วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กฎ 80/20 กฎมหัศจรรย์

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีความรู้สึกดังต่อไปนี้เกิดขึ้นในชีวิต- ทำงานสายตัวแทบขาด แต่ไม่เห็นร่ำรวยสมกับแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทไป- การตัดสินใจไม่กี่ครั้งกลับมีความสำคัญมากกว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่ของชีวิต- เราเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเต็มตู้ แต่กลับใส่จริงๆ แค่ชุดโปรดไม่กี่ชุด- ฯลฯ ปรากฎการณ์ข้างต้นเป็นปรากฎการณ์ที่แสดงถึงความไม่สมดุลที่พบเห็นประจำในชีวิตประจำวัน และในระดับมหภาค ไม่น่าเชื่อว่ามีนักคิดหลายคนได้นำปรากฎการณ์ที่ไม่สมดุลนี้มาเขียนเป็นกฎจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ผู้ที่ค้นคว้าปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นคนแรกของโลกคือนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อ Vilfredo Pareto (1849 – 1923) เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่ง Pareto ได้สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และความมั่งคั่งกับสัดส่วนประชากรของประเทศอิตาลีในศตวรรษที่ 19 พบว่าร้อยละ 80 ของรายได้และความมั่งคั่งของประเทศท้งหมดมาจากประชากรร้อยละ 20 ของประเทศ และ Pareto ยังแสดงข้อมูลในหลายช่วงเวลาของอิตาลีและประเทศอื่นๆ ในขณะนั้นว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกัน Pareto จึงตั้งชื่อปรากฎการณ์นี้ว่า Pareto Principle หรือ กฎ 80/20 ยังมีปรากฎการณ์อื่นที่คล้ายกับสิ่งที่ Pareto ค้นพบ เช่น Sir Isaac Pitman ผู้ประดิษฐ์การเขียนชอร์ตแฮนด์ พบว่ามีคำศัพท์เพียง 700 คำในภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ถึงสองในสามของการสื่อสารพูดคุยในชีวิตประจำวัน และ 700 คำเป็นรากศัพท์ของคำในภาษาอังกฤษทั้งหมดกว่าร้อยละ 80 หรือเรามักจะสังเกตได้ว่าในคลังสินค้าต่างๆ มูลค่าสินค้าที่เคลื่อนย้ายออกบ่อย 20% แรก จะมีมูลค่ารวมกันถึง 80% ของมูลค่าสินค้าทั้งหมดในคลังสินค้า

กฎข้างต้นเป็นการอ้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลสองชุด เช่น ระหว่างรายได้และความมั่งคั่งกับสัดส่วนประชากร หรือระหว่างการใช้คำจำนวนหนึ่งกับการใช้คำในภาษาอังกฤษทั้งหมด ภาพต่อไปนี้แสดงถึงกฎ 80/20 ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวเลขมหัศจรรย์ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในความไม่สมดุลของสิ่งต่างๆ ในโลก

ต่อมามีนักวิชาการหลายคนได้นำกฎของ Pareto มาประยุกต์ และเรียกว่า กฎของการออกแรงน้อยที่สุด (Principle of Least Effort) โดย George K. Zipf นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 1949 และต่อมาได้นำแนวคิดนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลายในการค้นหาข้อมูลในห้องสมุด นอกจากนั้นวิศวกรอเมริกันชื่อ Joseph Juran ผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Quality Revolution ระหว่าง 1950 – 1990 โดยเริ่มกระบวนการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ญี่ปุ่น ในปี 1953 ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นแนวคิดของ Total Quality Control และ Six Sigma ในเวลาต่อมา บริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้นำเอาข้อสังเกตของความไม่สมดุล หรือกฎ 80/20 นี้ มาประยุกต์ในกลยุทธ์ด้านธุรกิจ เช่น บริษัทจะทราบว่ายอดขาย กำไร หรือการใช้งาน มิได้มาจากสาเหตุส่วนใหญ่ (จำนวนสินค้า จำนวนคน กลยุทธ์) อย่างเท่าเทียม แต่มาจากสาเหตุส่วนน้อยที่มีคุณภาพ จึงทำให้บริษัทมุ่งเน้นไปที่การหาประโยชน์จากส่วนน้อยนั้น และพยายามขยายส่วนของสาเหตุที่ยังไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น หรือ ในปี 1963 บริษัท IBM สำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของเวลาและทรัพยากรในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะเป็นการใช้งานจากโค้ดของ Operating System เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น IBM จึงได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ใช้ประโยชน์จากส่วนร้อยละ 20 นี้ให้มากขึ้น ทำให้ส่วนนี้สามารถถูกใช้งานได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้นดังนั้นจึงทำให้คอมพิวเตอร์ของ IBM ในยุคนั้นทำงานเร็ว และมีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็น 80/20 เสมอไป บางครั้งอาจจะเป็น 80/30 หรือ 80/10 หรือ 75/10 ก็ได้ ซึ่งตัวเลขไม่จำเป็นต้องบวกกันให้ได้ 100 เพราะเลขที่ใช้เป็นคนละชุดของข้อมูลกัน กล่าวโดยรวมๆ คือกฎนี้จะตรงกันข้ามกับลักษณะ 50/50 หรือกฎความสมดุล ที่บอกว่าร้อยละ 50 ของ Inputs ก่อให้เกิดร้อยละ 50 ของ Outputs หรือผลงานที่เกิดขึ้น ซึ่งก็สามารถอธิบายปรากฎการณ์นี้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การทำงานในชีวิตประจำวันของเรา ผลงานที่ปรากฎส่วนใหญ่ จะเป็นการทำงานที่เกิดขึ้นในการใช้เวลาส่วนน้อยในแต่ละวัน หรือเวลาทำงานทั้งหมดของเรามิได้มีผลต่อความก้าวหน้าในงานของเรา ดังนั้นเราต้องทราบว่าเวลาที่สำคัญส่วนน้อยที่เป็นประโยชน์มากนั้นอยู่ตรงไหน และจะใช้มันให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรหรือเราอาจจะประหลาดใจที่ได้เห็นเพื่อนบางคนไม่ได้เรียนหนัก แต่มีความรู้และได้คะแนนดี ซึ่งเราจะพบว่าหนังสือที่ต้องอ่าน หรือเนื้อหาการบรรยายที่ต้องทำความเข้าใจทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นหัวใจในการตอบคำถามในการสอบ ประเด็นอยู่ตรงที่ร้อยละ 20 นั้นคืออะไร และอยู่ตรงไหน



กฎ 80/20 นี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ที่พยายามศึกษาหาหนทางที่จะให้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันเราได้ 2 แนวทางคือ

1)จัดสรรทรัพยากรมายังปัจจัยส่วนน้อยที่เป็นประโยชน์ต่อการเกิดผลส่วนใหญ่มากขึ้น เช่น หากเราค้นพบว่าสินค้า 2 ตัว ใน 10 ตัวของบริษัทที่ทำกำไรให้เป็นส่วนใหญ่ เราก็ต้องหาทางสนับสนุนและขยายการทำตลาดสินค้าทำเงินเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้น

2)ทำให้ Inputs ส่วนใหญ่ที่ยังไม่สร้างประโยชน์มากนักให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราไม่ควรจะปล่อยให้ส่วนหนึ่งของการใช้งานสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์